วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ชะพลู

ชะพลู ถือเป็นพืชสมุนไพร และพืชผักพื้นบ้านที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์สำหรับการปรุงอาหารเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากให้รสหวานเย็น มีกลิ่นหอม ช่วยดับกลิ่นคาวอาหารได้เป็นอย่างดี
ชะพลู มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Piper sarmentosum Roxb. อยู่ในวงศ์ Piperaceae ชื่ออื่นช้าพลู (ภาคกลาง) ชะพลูเถา เฌอภลู (สุรินทร์) ผักปูนา ผักปูลิง ผักปูริง ปูลิงนก ผักพลูนก ผักอีไร ผักอีเลิศ (ภาคอีสาน) พลูลิง (ภาคเหนือ) เย่เท้ย (แม่ฮ่องสอน) พลูนก ผักปูนก (พายัพ) พลูลิงนก (เชียงใหม่) นมวา (ใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
• ลำต้น ลำต้นมีลักษณะตั่งตรง สูงประมาณ 30-50 ซม. สีเขียวเข้ม มีข้อเป็นปม แตกกอออกเป็นพุ่ม เติบโตได้ดีในพื้นที่ดินชุ่ม
• ใบ ใบมีสีเขียวสดถึงเขียวแก่ ก้านใบยาว 1-3 ซม. ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายรูปหัวใจ ใบกว้าง 5-10 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้า ผิวมันออกมัน แทงใบออก 2 ใบตรงข้ามกัน มีเส้นใบประมาณ 7 เส้น แทงออกจากฐานใบ
ชะพลู
• ดอก ดอกเป็นช่อ ทรงกระบอก ชูตั้งขึ้น ดอกอ่อนมีสีขาว เมื่อแก่จะออกสีเขียว รูปทรงกระบอก แทงดอกบริเวณปลายยอด และช่อใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. ดอกเป็นดอกแยกเพศ • ผล ผลเจริญบนช่อดอก มีลักษณะเป็นผลสีเขียว ผิวมัน มีลักษณะกลมเล็กฝังตัวในช่อดอกหลายเมล็ด มักออกดอกมากในฤดูฝน
ดอกชะพลู
คุณค่าทางสารอาหาร
สารอาหารสำคัญที่พบ ได้แก่ แคลเซียม และสารเบต้า-แคโรทีน ซึ่งมีในปริมาณสูง และน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ที่ประกอบด้วยสารในกลุ่ม Lignans และ Alkaloids และสารอื่นดังแสดงด้านล่าง
คุณค่าทางอาหาร (ในน้ำหนักแห้ง 100 กรัม)
– พลังงาน 101.00 กิโลแคลอรี่
– โปรตีน 5.40 กรัม
– ไขมัน 2.50 กรัม
– คาร์โบไฮเดรต 14.20 กรัม
– แคลเซียม 298.00 มิลลิกรัม
– ฟอสฟอรัส 30.00 มิลลิกรัม
– เหล็ก 4.63 กรัม
– วิตามินบี1 0.09 กรัม
– วิตามินบี2 0.23 กรัม
– ไนอาซีน 3.40 กรัม
– วิตามินซี 22.00 กรัม
– เบต้า แคโรทีน 414.45 ไมโครกรัม
– ใยอาหาร 6.90 กรัม
ฤทธิ์ทางเภสัชกรรม
ชะพลูจัดเป็นพืชสมุนไพร และผักพื้นบ้าน สามารถทุกส่วนของลำต้น ทั้งใบ ราก ผล โดยนำใบ ลำต้น หรือ ราก มาต้มกับน้ำเดือดเพื่อนำมาดื่ม
1. ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด
2. ลดกลิ่นปาก ต้านเชื้อแบคทีเรีย
3. ลดระดับน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการโรคเบาหวาน
4. ปริมาณโปรตีนสูง มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้เจริญอาหาร
5. ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อยของร่างกาย
6. ลดการบีบตัวของลำไส้เล็ก
7. บรรเทาโรคหืด
8. แก้ และป้องกันโรคบิด
9. แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ
10. ช่วยขับเสมหะ
11. ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระต่างๆ
12. ช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
ราก : แก้ธาตุพิการ บรรเทาเบาหวาน ขัดเบา ปวดเจ็บ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้เมื่อยขบ ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้เสมหะ แก้ปัสสาวะรดที่นอน ขับเสมหะให้ตกทางทวารหนัก และแก้สะอึก
ต้น : ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลมจุกแน่นท้อง แก้มูกออกในอุจจาระ
ใบ : ใช้เป็นยาลดเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ แก้ธาตุพิการ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และบำรุงธาตุร่างกาย
ดอก : แก้เสมหะในลำคอ ทำให้ชุ่มคอ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ต้านเชื้อแบคทีเรีย
ผล : ขับลม แก้เสมหะในลำคอ ช่วยย่อยอาหาร ต้านเชื้อแบคทีเรีย
สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ทางยา
1. aromatic alkene
2. 1 – allyl – 2 -methoxy – 4
3. 5 -methylenedioxybenzene
4. sitosterol
5. pyrrole amide
6. sarmentine
7. sarmentosine
8. pellitorine, (+) -sesamin
9. horsfieldin
10. two pyrrolidine amides 11 และ 12
11. guineensine
12. brachystamide B
13. sarmentamide A, B, และ C
ประโยชน์ในด้านอื่น
ใบชะพลูมีรสหวาน เย็น และกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ จึงนิยมนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู อาทิ เมี่ยงคำ แกงอ่อม หรือเป็นผักเคียงทานกับข้าวยำ และน้ำพริกต่างๆ ในภาคอีสานนิยมนำมาทำแกงอ่อม นำมาทำเป็นผักกินกับลาบอีสาน ซึ่งจะให้รสชาติออกเผ็ด เย็นเล็กน้อย แกงอ่อมชะพลู
งานศึกษาที่เกี่ยวข้อง
– Peungvicha และคณะ ได้ศึกษาฤทธิ์ของชะพลูในการลดน้ำตาลในเลือดหนักตัวของหนูขาว โดยการทดลองให้สารสกัดน้ำชะพลู ความเข้มข้น 0.125 และ 0.25 กรัม/กิโลกรัมน้ำ พบว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของหนูทดลองลดลง แต่ความเข้มข้นที่ศึกษาไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวาน ได้ แต่เมื่อให้ในขนาด 0.125 กรัมต่อกิโลกรัม ติดต่อนาน 7 วัน พบว่า ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของหนูขาวที่เป็นโรคเบาหวานลดลงได้
– Choochote และคณะ รายงานว่า สารสกัดจากชะพลู มีพิษต่อตัวเต็มวัยของยุงลาย Stegomyia aegypti (Diptera: Culicidae) และ ผลจากการทดสอบโดยการหยดสารสกัดลงบนอกปล้องที่ 2 ของยุงลายเพศเมีย พบว่า สารสกัดจากชะพลู มีค่า LD50 ต่อยุงลายเพศเมีย 1 ตัว เท่ากับ 0.26 มิลลิกรัม
– มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดจากใบชะพลู โดยทำการทดลองกับหนูที่มีภาวะเหนี่ยวนำทำให้เป็นเบาหวาน ผลการทดลองพบว่า เมื่อให้สารสกัดจากใบชะพลูแก่หนูนาน 7 วัน มีผลทำให้น้ำตาลในเลือดของหนูลดลง
– จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ พบว่า ใบชะพลูมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกาย คือ แคลเซียม และวิตามินเอ ซึ่งมีในปริมาณมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมี ฟอสฟอรัส เหล็ก เส้นใย และคลอโรฟิล อีกด้วย
– มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากชะพลูเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อ แบคทีเรียในหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งผลการวิจัยพบว่า สารสกัดที่ได้จากส่วนของก้านชะพลูแห้ง สามารถลดปริมาณของเชื้อแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม และ E.coli ได้ดี
– มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับการใช้สารละลายกรดออกซาลิกในน้ำใบชะพลูขจัดคราบ เลือดบนผ้า ผลการวิจัยพบว่า น้ำใบชะพลูสามารถขจัดคราบเลือดที่อยู่บนผ้ากึ่งใยสังเคราะห์ และผ้ามัสลินได้ เนื่องจากกรดออกซาลิกในน้ำใบชะพลูทำปฏิกิริยากับเหล็ก ซึ่งเหล็กเป็นองค์ประกอบของเลือด จึงทำให้คราบเลือดหลุดออกจากผ้าได้
– การใช้คลอโรฟอร์มสกัดสารจากใบชะพลู ที่เวลา 24 ชั่วโมง ได้สารที่มีความเข้มข้น 0.1 mg/mL สามารถยับยั้งการเติบโตของโปรโตซัวได้ 86.3 % – สารเมทธานอลที่สกัดจากใบชะพลูสามารถยั้บยั้งการทำงานของระบบประสาทกล้าม เนื้อใน หนูได้
– สาร 1 – allyl – 2, 6 – dimethoxy – 3, 4 – methylenedioxybenzene จากชะพลูมีฤทธิ์ต้านเชื้อ Escherichia coli และ Bacillus subtilis และสาร sitosterol สามารถสามารถออกฤทธิ์ต้านการเกิดเนื้องอกได้
– สารสกัดจากชะพลูด้วยน้ำที่ความเข้มข้น 10% สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อรา Colletotrichum sp. ที่เป็นสาเหตุของโรคแอนแทรคโนสในเบญจมาศได้ 100%
– สาร Sarmentine และ 1 – piperettyl pyrrolidine จากชะพลูมีผลต้านเชื้อวัณโรค
ข้อแนะนำ
1. ไม่ควรรับประทานเป็นจำนวนมาก และเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากในใบชะพลูมีสารออกซาเลทสูง ถ้าหากมีการสะสมมากๆ อาจกลายเป็นนิ่วในไตได้
2. ถ้าหากต้องการรับประทานเพื่อสุขภาพ แนะนำให้รับประทานใบชะพลูร่วมกับเนื้อสัตว์ เพราะร่างกายจะสามารถใช้แคลเซียมที่มีอยู่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
3. ควรดื่มน้ำตามมากๆ หลังจากรับประทานใบชะพลู เพื่อทำให้สารออกซาเลทเจือจางลง และถูกขับออกทางปัสสาวะ
การปลูก และขยายพันธุ์
ชะพลูเป็นพืชที่เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน ชอบดินร่วนซุย มีอินทรียวัตถุมาก และมีความชุ่มชื้น ชอบแสงรำไร จึงมักพบชะพลูโตดีในพื้นที่ชื้น มีร่มเงา โดยเฉพาะบริเวณใต้ร่มไม้ ชะพลูสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแยกเหง้าหรือหน่อออกปลูก เหง้าที่แยกอาจเป็นต้นอ่อนหรือต้นแก่เพียง 2-3 ต้น ก็สามารถแตกกอใหญ่ได้
การให้น้ำ ควรให้น้ำสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่มักขาดแคลนน้ำ ส่วนในฤดูฝนต้นชะพลูสามารถเติบโตได้ดีเพียงอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติ
การใส่ปุ๋ยอาจใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงเศษใบไม้หว่านโรยรอบเหง้าชะพลู ส่วนปุ๋ยเคมีที่ใช้ควรให้สูตร 16-8-8 เพียง 1 กำ/ต้น หลังจากต้นเริ่มแตกเหง้าสร้างทรงพุ่ม

ที่มา http://puechkaset.com/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B9/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น