วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผักเหนาะ
 





ผักเหนาะที่คนภาคใต้ใช้รับประทานควบคู่กับอาหารประเภทน้ำพริก หรือแกงมีหลายอย่าง เช่น
สะตอ เป็นผักชนิดหนึ่งทางภาคใต้ ลักษณะเป็นฝักคล้ายฝักของต้นหางนกยูง รับประทานเมล็ดทีอยู่ในฝัก ใช้เป็นผักเหนาะ หรือนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด
สะตอเบา คือต้นกระถิน รับประทานได้ทั้งยอดอ่อนและเมล็ดในฝักยอดอ่อนจะใช้เป็นผักเหนาะ ส่วนกระถิน มักรับประทานกับข้าวยำ
สะตอดอง คือสะตอที่ทำให้มีรสเปรี้ยว โดยการดองกับน้ำตาลและเกลือ
ลูกเนียง เป็นผลของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งในภาคใต้ ลักษณะของผลจะมีเปลือกแข็ง รับประทานเมล็ด ข้างใน ลูกเนียงถ้ายังไม่แก่ เปลือกในที่ติดกับเม็ดจะมีสีนวล เนื้อสีเหลืองนวลเช่นกัน มีรสมันและกรอบ ผลที่แก่จัดเอาไปต้มจนเนื้อเหนียว รับประทานกับมะพร้าวทึนทึก ขูดผสมกับน้ำตาลทรายและเกลือใช้เป็นของขบเคี้ยวได้
ลูกเนียงหมาน คือการเอาลูกเนียงที่แก่ไปแช่น้ำพอให้เปลือกแตก แล้วนำไปหมกไว้ในทราย พรมน้ำให้ชื้น ทิ้งไว้สัก 2-3 วัน พอมีรากงอกออกมาเป็นใช้ได้ ลูกเนียงหมานจะมีกลิ่นฉุนและรสเฝื่อน
หน่อเหรียง มีลักษณะคล้ายถั่วงอกหัวโต แต่หัวจะโตกว่าถั่วงอก และมีสีเขียว รสมัน กลิ่นฉุ ใช้เป็นผักเหนาะ และนำไปประกอบอาหารได้หลายชนิด
ยอดยาร่วง คือยอดอ่อนของต้นมะม่วงหิมพานต์ มีรสชาติฝาด ๆ เปรี้ยว ๆ ใช้เป็นผักเหนาะกับน้ำพริกต่าง ๆ ขนมจีนน้ำยา และแกง
ยอดปราง คือยอดอ่อนของต้นมะปราง มีรสฝาด ใช้เป็นผักเหนาะ
ยอดมะกอก คือยอดอ่อนของต้นมะกอก มีรสเปรี้ยว ใช้เป็นผักเหนาะ
หยวกกล้วยเถื่อน คือแกนกลางของต้นกล้วย นำมาลวกเป็นผักเหนาะ หรือจะทำแกงส้ม แกงเผ็ด แกงเลียง
ยอดหมุย ลักษณะใบเรียวเล็ก รสมัน กลิ่นหอมใช้เป็นผักเหนาะ
นอกจากผักเหนาะที่มีมากมายแล้ว ยังมีผักชนิดอื่น ๆ และเครื่องปรุงอาหารอีกหลายอย่างที่เป็นลักษณะ เฉพาะของอาหารภาคใต้ เช่น
เห็ดแครง เป็นเห็ดที่ขึ้นตามต้นยางพาราที่ถูกโค่นแล้วมีมากในฤดูฝนลักษณะคล้ายดอกไม้ มีทรายมาก เวลา ทำอาหารจึงต้องล้างหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้ทรายหมด ใช้ทำอาหารได้หงายชนิด เห็ดแครง นำมาตากแห้งเก็บไว้ได้นาน
อ้อดิบ คือต้นคูนของภาคกลาง เวลาใช้ปรุงอาหารให้ลอกเยื่อบาง ๆ ออก แล้วหั่นเป็นท่อนคล้ายสายบัว
ยอดมวง คือยอดต้นชะมวง มีรสเปรี้ยว ใช้แกงส้ม ต้มเครื่องในก่อนใช้ต้องนำยอดมวงย่างไฟให้เหี่ยวเสียก่อน เพื่อช่วยลดความเหม็นเขียวลง

ยังมีอีกมากมาย ค่อยนำมากล่าววันหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น