วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558


มะงั่ว ผลไม้สมุนไพรโบราณที่น่ารู้จัก




มะงั่ว เป็นไม้จำพวกส้มชนิดหนึ่ง ที่หาดูต้นของจริงได้ยาก แม้จะมีชื่อและข้อมูลปรากฏในตำราเก่าๆ อยู่บ้าง แต่จะหาภาพถ่ายจากต้นจริงไม่ค่อยได้ ดังนั้น จึงเป็นไม้ผลที่พวกเราควรจะมาทำความรู้จักให้มากขึ้น ใน "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ฉบับนี้ จะได้เลิกคิดว่า มะงั่ว เป็นแต่เพียงผลไม้ในตำนานเสียที แล้วก็มาดูย้อนหลังกันว่า คนโบราณท่านใช้มะงั่วเป็นยาอย่างไรบ้าง

มะงั่ว เป็นไม้ผลที่มีชื่อเรียกต่างกันไปในแต่ละถิ่น แถบอีสาน เรียกว่า หมากเว่อ เชียงใหม่ เรียกว่า มะโว้ช้าง และในถิ่นอื่นๆ เรียกต่างไปอีกว่า มะนาวควาย มะนาวริปน ส้มนาวคลาน และส้มละโว้ เป็นต้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้บันทึกเรื่องของมะงั่ว ไว้ว่า

"มะงั่ว น. ชื่อไม้ต้นขนาดเล็ก ชนิด Citrus ichangensis Swing. ในวงศ์ Rutacea ผลคล้ายส้มโอ รสเปรี้ยวจัด ใช้ประสมกับขมิ้นเพื่อย้อมผ้า"

นอกจากจะใช้น้ำเป็นของเปรี้ยวแทน มะนาวแล้ว เราก็ได้ทราบเพิ่มเติมอีกว่า คนสมัยก่อนใช้น้ำมะงั่วในการย้อมผ้าสีเหลืองอีกด้วย เข้าใจว่าคงจะช่วยทำให้สีสดขึ้นหรือติดทนทานยิ่งขึ้นกระมัง?

ทางภาค อีสานท่านจัดให้ มะงั่ว เป็นผลไม้พวกเดียวกับส้มซ่า โดยท่านแยกออกเป็น 2 รส คือ ชนิดรสส้มและรสหวาน ดังที่ อาจารย์ปรีชา พิณทอง เขียนไว้ในสารานุกรมภาษาอีสาน-ไทย-อังกฤษ ว่า "งั้ว 2 น. ส้มซ่า ซึ่งพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ลูกกลมใหญ่ มีรสส้มและหวาน ชนิดรสเปรี้ยวเรียก หมากเว่อส้ม ชนิดรสหวานเรียก หมากเว่อหวาน เรียก หมากงั้ว หมากส้มโฮหาว หมากนาวโฮโห่ ก็ว่า. Type of plant with large round fruit, sweet and sour varieties."

การที่เราจะระบุว่าผลไม้หรือต้นไม้ชนิดใดเป็นไม้โบราณ นั้น ทางหนึ่งคือ ตรวจดูว่าพรรณไม้ชนิดนั้นๆ ได้ถูกเอ่ยชื่อไว้ในตำรับยาในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่าหรือไม่ หากมีเอ่ยชื่อไว้ เราก็นับเอาไว้ในสมุนไพรโบราณได้ แต่หากไม่มีระบุไว้ก็อาจจะไม่นับเข้าเป็นต้นไม้โบราณก็ได้ (แต่ก็อาจจะนับเข้าเป็นไม้โบราณได้ หากมีชื่อปรากฏในตำรับยาที่เก่ารองลงมา โดยเฉพาะหากเป็นตำราที่แพทย์แผนไทยรุ่นเก่าที่น่าเชื่อถือได้บันทึกเอาไว้)

สำหรับ มะงั่วนั้น เราเชื่อได้ว่าเป็นผลไม้โบราณอย่างแน่นอน เพราะมีระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยของเก่า อันได้แก่ พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์,-ธาตุวิภังค์,-มหาโชตรัต,-โรคนิทาน,-ธาตุวิวรณ์,-ธาตุ บรรจบ และพระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา แม้จะไม่ถูกระบุชื่อไว้ในพระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด) ก็ตาม

จาก พระคัมภีร์แพทย์ของเก่าที่เอ่ยชื่อมานั้น ท่านใช้ส่วนต่างๆ ของมะงั่วเข้าในตำรับยา อันได้แก่ เมล็ดในมะงั่ว ใบมะงั่ว รากมะงั่ว ผิวเปลือกผลมะงั่ว น้ำมะงั่ว และที่ระบุว่า มะงั่วเฉยๆ ก็มี และโรคที่ท่านระบุชื่อว่าแก้ได้ ได้แก่ โรคกุมารสำรอกและสะอึก โรคซาง โรคละอองแสงเพลิง โรคลมบ้าหมู โรคมูกเลือด โรคลม โรคป่วง โรคหืดหรือไอ โรคสันนิบาต โรคนอนไม่หลับ โรคเสมหะพิการ โรคริดสีดวง โรคเกี่ยวกับตับ และโรคกษัยที่เกิดเถาดานโลหิตในท้อง เป็นต้น

เมื่อย้อนกลับมาดูตำรา แพทย์แผนไทยรุ่นหลังๆ เช่น สารานุกรมสมุนไพร ของ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ท่านระบุสรรพคุณของมะงั่ว ไว้ว่า น้ำในผล-รสเปรี้ยว ฟอกโลหิต ระดู แก้ไอ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน และ ราก-รสปร่าจืด กระทุ้งพิษ แก้พิษผิดสำแดง แก้พิษฝีภายใน และแก้เสมหะเป็นโทษ ในขณะที่หนังสือ ช่วยสอบวิชาเภสัชกรรมแผนโบราณ ของ อาจารย์มัธยัสถ์ ดาโรจน์ ระบุสรรพคุณของน้ำมะงั่วและรากมะงั่วไว้ตรงกันกับที่อาจารย์วุฒิระบุไว้ แต่มีเพิ่ม ผิวจากผลมะงั่วว่า มีสรรพคุณแก้ลม และขับลมในลำไส้อีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่พวกเราควรจะรู้เอาไว้

เอาละ ได้ปูพื้นเรื่องราวของมะงั่วมามากพอสมควรแล้ว คนที่ปลูกมะงั่วไว้ก็จะได้ทราบถึงคุณประโยชน์ของมะงั่วดีขึ้น และในคนที่เคยได้ยินแต่ชื่อโดยไม่เคยปลูก ไม่เคยเห็นต้นหรือผล เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ บางทีอาจจะอยากปลูกส้มชนิดนี้ขึ้นมาบ้างแล้วก็อาจจะเป็นได้ อย่างน้อยก็เป็นผลไม้ที่หายาก หากมีไว้ตามไร่ตามสวน ลูกหลานก็จะได้เห็นของจริงกันเสียที แทนที่จะรออ่านข้อมูลจากหนังสือหรือค้นเอาจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (ซึ่งเด็กสมัยนี้ถนัดกันนัก) ซึ่งเป็นข้อมูลแห้งๆ และไร้ชีวิตชีวา

เรา จะไปขุดความรู้เรื่องตำรับยาที่ใช้ส่วนต่างๆ ของมะงั่วในมรดกแพทย์แผนไทยกันต่อไป บางตำรับผู้เขียนจะสรุปมา แต่บางตำรับที่มีตัวยาไม่มากนักและเป็นตำรับที่สามารถเตรียมขึ้นใช้เป็นยา ขนานง่ายๆ ได้ ผู้เขียนก็จะคัดลอกมาอนุรักษ์เอาไว้ เผื่อว่าใครมีต้นมะงั่วอยู่แล้วจะนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันบ้าง แทนที่จะปล่อยให้ผลผลิตจากต้นมะงั่วต้องร่วงหล่นทิ้งไปโดยไร้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยสืบอายุต้นไม้ในตำนานต้นนี้ให้ยืนยาวต่อไปได้ นี่แหละจึงจะเป็นวิธีการอนุรักษ์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง

ในบรรดา คัมภีร์แพทย์ของเก่าทั้งหลาย พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์นับว่าบันทึกตำรับยาที่เข้าด้วยมะงั่วมากที่สุด คือ 5 ตำรับ ส่วนในคัมภีร์อื่นๆ ก็มีเพียงคัมภีร์ละ 1 ตำรับ เท่านั้น ตำรับยาดังกล่าว มีดังนี้

1. พระคัมภีร์ปฐมจินดาร์ ได้แก่ ยาแก้กุมารสำรอกและสะอึก ท่านให้ใช้น้ำมะงั่วละลายข้าวตอกกับเกลือบด รับประทาน,ยาเหลืองน้อยกินแก้พิษทราง ท่านให้เอา สารส้ม 1 น้ำประสานทอง 1 เมล็ดในมะกรูด 1 เมล็ดในมะนาว 1 เมล็ดในส้มส้า 1 เมล็ดในมะงั่ว 1 เปลือกมะรุม 1 เปลือกทองหลางใบมน 1 หอมแดง 1 ดีปลี 1 กำมะถันแดง 1 รวม 11 สิ่ง เอาส่วนเท่ากัน ตำเป็นผงปั้นแท่งไว้ละลายน้ำมะกรูด มะงั่ว หรือน้ำเปลือกทองหลางก็ได้ กินแก้โรคพิษทราง, ยาแก้ละอองแก้ววิเชียร ท่านให้เอา รากมะกรูด รากมะนาว รากมะงั่ว รากพุดซ้อน รากมะลิ รากอัญชันขาว รากระย่อม รากพิศนาด รากเจตภังคี รากกรามแดง รากกรามช้าง รากครามดี และข่าแก่ รวม 13 สิ่ง เอาเสมอภาค (อย่างละเท่าๆ กัน) ทำเป็นผง ปั้นแท่งไว้ละลายน้ำหยัดเหล้า ใช้ทั้งทาทั้งกิน แก้โรคละอองแก้ววิเชียรดีนัก

โรคละอองแก้ววิเชียรนั้น เป็นโรคที่เกิดแต่ทรางน้ำ อาการ คือ เพดาน ลิ้น และกระพุ้งแก้มจะหนาขาวเป็นมันดุจมะพร้าวกะทิ เป็นเลือกไปทั้งปาก กินน้ำ กินนมไม่ได้ ถ้าวางยาถูกก็จะหายและไม่เป็นอีก แต่หากวางยาไม่ถูก โรคก็จะประทังไปแล้วกลับเป็นอีก ต้องรักษาให้ทันภายใน 3 วัน ให้กวาดยาในตอนเย็น

ยาแก้ละอองแสงเพลิง มียารักษาหลายขนาน หนึ่งในยาดังกล่าว ท่านให้เอาใบครามทั้ง 3 ใบรักขาว ใบพลูแก่ ใบกะเพรา ผักแพวแดง เมล็ดในมะนาว เมล็ดในมะกรูด เมล็ดในมะงั่ว (เมล็ดทั้ง 3 สิ่งนี้ คั่วให้เกรียม) รากดินเผา (หมายถึง ไส้เดือนดินเผา) ฝักส้มป่อยปิ้ง ตรีกฏุก กระเทียม นอแรด งาช้าง เขากวาง ดีงูเหลือม ฝิ่น รวมยา 20 สิ่ง เสมอภาค ทำเป็นจุณ (บดเป็นผง) ปั้นแท่งไว้ละลายน้ำทาปาก ทาลิ้นกุมารหายฯ

โรคละออง แสงเพลิง ตรงกับโรคแผนปัจจุบันที่ชื่อว่า Infectious diarrhea เป็นอาการของทรางสะกอ ตอนแรกกระพุ้งปากมีสีขาว เพียง 24 ชั่วโมง จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำเขียว เมื่อลงท้องจะมีอุจจาระเขียวดังใบไม้ เพราะละอองไปจับเอาไส้อ่อนและขั้วดี น่าจะตรงกับโรคท้องร่วงเนื่องจากการติดเชื้อนั่นเอง

ยาชื่อจันทร รัศมี กินแก้ลมบ้าหมู แก้พิษตานทราง แก้มูกเลือด แก้ป่วง แก้ลม แก้สันนิบาต แก้หืดแก้ไอ และแก้นอนไม่หลับ โดยใช้น้ำกระสายแตกต่างกันไป ท่านให้เอาใบมะงั่ว กับตัวยาอื่น (รวม 27 สิ่ง) และพริกไทยเท่ายาทั้งหลาย (รวมเป็น 28 สิ่ง) ผู้ที่สนใจจะค้นเพิ่มเติมได้จากคัมภีร์ปฐมจินดาร์

2. พระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ มียา 1 ตำรับ คือ ยาล้อมตับ (ป้องกันตับ) โดยใช้รากมะงั่ว และตัวยาอย่างอื่น รวม 17 สิ่ง ต้มเอาน้ำเข้มข้น ไปผสมกับยาที่มีขั้นตอนในการเตรียมค่อนข้างสลับซับซ้อน แล้วปั้นเม็ดกินแก้เสมหะพิการ

3. พระคัมภีร์มหาโชตรัต มียา 1 ตำรับ คือ ยาแดงโลหิต ใช้มะงั่ว (ไม่ระบุว่าเป็นส่วนใด) กับตัวยาอย่างอื่น รวม 27 สิ่ง บดผง แล้วละลายน้ำส้มซ่า กิน หรือรมทวาร หรือนัตถุ์ทางจมูก เพื่อบำรุงโลหิต และรักษาโรคริดสีดวง

4. พระคัมภีร์โรคนิทาน มี 1 ตำรับ คือ ยาล้อมตับ โดยใช้รากมะงั่วและตัวยาอย่างอื่นอีกหลายอย่าง อีกทั้งมีขั้นตอนในการปรุงยาที่ค่อนข้างจะสลับซับซ้อน (คล้ายกับตำรับที่ปรากฏในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ (ข้อ 2.) ข้างต้น

5. พระคัมภีร์ธาตุวิวรณ์ มียาแก้ธาตุดินพิการที่มักจะเกิดในเดือน 3 และเดือน 4 ตำรับนี้เป็นเพียงใช้น้ำมะงั่ว น้ำส้มซ่าเป็นกระสาย ท่านแต่งเป็นบทร้อยกรอง จะขอยกมาให้อ่าน ดังนี้

"เดือนสามแลเดือนสี่ สิสิระฤดูพลัน ปถวีธาตุดินนั้น เป็นมูลโรคธิบดี เกิดโรคด้วยเลือดลม กำเดาเจือเสลดนี้ แปรปรวนกำเริบมี วิการโรคต่างๆ เป็น เกิดโรคให้ฟกบวม หูทั้งสองเปนหนองเหม็น เลือดเหน้าหากให้เปน ย่อมไหลออกจากโสตา ผู้แพทย์พึงประกอบ ซึ่งโอสถเร่งเยียวยา ลูกกะดอมกะเทียมมา ไพลว่านน้ำเยาวพานี ตุมกาว่านร่อนทอง เนระภูสี สน สังกะระนี ตำให้ละเอียดดี แล้วละลายน้ำขิงกิน แก้สะท้านแซกพริกไทย ลงเก้าเมล็ดตำให้สิ้น แก้ร้อนเอาหญ้าตีนนกคู่กันจันทร์ทั้งสอง ต้มเปนกระสายริน แก้ร้อนได้ดังใจปอง แก้ดีเสลดต้อง น้ำมะงั่วน้ำส้มซ่า แก้โทษปถวี คือสิสิระฤดูนา เสร็จสิ้นดังกล่าวมา ฤดูหกจบสมบูรณ์"

6. พระคัมภีร์ธาตุบรรจบ มีตำรับยา 1 ขนาน คือ ยาเทพประสิทธิ์ แก้ธาตุลมไม่ปกติ น่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวบ้านทั่วไป จึงขอคัดมาทั้งหมด "ท่านให้เอา เบญจกูล ตรีผลา โกฐทั้ง 9 เทียนทั้ง 7 ผลจันทน์ ดอกจันทน์ สิ่งละส่วน, ผิวมะกรูด ผิวมะนาว ผิวส้มซ่า ผิวมะงั่ว สิ่งละ 2 ส่วน, กฤษณา กะลำภัก ชะลูด ขอนดอก จันทน์แดง ดอกพิกุล เกสรบุนนาก เกสรสาระภี อบเชย ส่งละ 5 ส่วน, การะบูร กะแจะตะนาว ชะมดเชียง สิ่งละ 5 ส่วน, จันทน์เทศ พิมเสนเกล็ด สิ่งละ 8 ส่วน, ดอกมะลิ 32 ส่วน ทำเปนจุณ (บดเป็นผง) ใช้น้ำดอกไม้เทศเป็นกระสาย บดทำแท่งไว้ละลายน้ำกระสายอันควรแก่โรค แก้วาโยในกองสมุฏฐาน ชาติ, จลนะ, ภินะ ธาตุอันระคนด้วยพิษในปัจฉิมที่สุด ซึ่งตกเข้าระหว่างมหาสันนิบาต"

ยา เทพประสิทธิ์ตำรับนี้ หากพิจารณาดูให้ดีจะเห็นว่า เป็นตำรับยาแก้โรคลมที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์มากที่สุดตำรับหนึ่ง เพราะมีพิกัดยาทั้งเบญจกูล ตรีผลา โกฐ เทียน และของหอมครบถ้วนทีเดียว นับว่าเป็นตำรายาที่น่าสนใจไม่น้อย

7. พระคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกา มีตำรับยาสำหรับแก้โรคตรีสันฑฆาต ซึ่งนับเป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิตโรคหนึ่งในอดีต โรคนี้ ท่านว่า เกิดกาฬขึ้นที่ตับ หัวใจ ไส้อ่อน ไส้แก่ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่างกันไป หากเกิดที่ตับจะลงเป็นโลหิต เกิดที่ดีจะคลั่งเพ้อ เป็นต้น ยาแก้โรคท่านให้เอา เข็มแดง รากมะงั่ว รากมะนาว ผลกระวาน พริกไทย รวม 5 สิ่ง สิ่งละเสมอภาค ดองด้วยสุราให้กินเมื่อมีระดูเปนด้วยปถวีธาตุนั้นหายแลฯ ยาตำรับนี้กินได้ทั้งบุรุษและสตรี

ข้อมูลเกี่ยวกับตำรับยาเก่าที่ เข้าด้วยส่วนต่างๆ ของมะงั่วก็ขอยกมาแต่เพียงแค่นี้ ท่านผู้ใดคิดว่ามีความจำเป็นที่จะใช้สมุนไพรมะงั่วในเชิงประยุกต์ก็สามารถ ศึกษาเพิ่มเติมและนำไปปรับใช้ได้ ผู้เขียนขอย้ำว่า การใช้สมุนไพรนั้น เรามุ่งใช้ไปในเชิงของการป้องกันโรค หรือใช้เพื่อเป็นการแพทย์ทางเลือก หากโรคใดมียาแผนปัจจุบันที่ใช้ได้ดีอยู่แล้วและราคาไม่แพงจนเกินไปนัก เราก็อาจไม่จำเป็นต้องไปฝืนใช้สมุนไพรเสมอไป แต่หากมีบางโรคที่เราใช้ยาแผนปัจจุบันแล้วไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและอาการ โรคของเราไปตรงกับอาการโรคที่แพทย์แผนไทยท่านระบุไว้ กรณีเช่นนี้ หากท่านจะพิจารณาใช้สมุนไพรที่ศึกษาแล้วว่าไม่มีพิษต่อร่างกาย ก็น่าจะนับว่าเป็นทางเลือกที่ดี ยิ่งเป็นสมุนไพรที่มีข้อมูลการค้นคว้าวิจัยสมัยใหม่สนับสนุนว่ามีสารสำคัญ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและรักษาโรคด้วยแล้ว ยิ่งควรที่พวกเราจะได้เร่งเอาใจใส่พัฒนาต่อยอดโดยเร็ว

หันกลับมาพูด ถึงไม้ที่ชื่อ มะงั่ว (ในโลกแห่งความเป็นจริง) กันอีกสักนิด มะงั่วเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดเล็ก เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา, ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 1 ใบ ออกเรียงสลับ ลักษณะใบมีทั้งรูปไข่แกมรูปใบหอก และใบที่มี 2 ตอน คือ ปลายใบมนรี และมีโคนใบคอด (คล้ายกับใบมะกรูด แต่ส่วนโคนใบจะเล็กกว่าใบมะกรูด) แบ่งเป็น 2 ส่วน สีเขียวเข้มและมีจุดน้ำมัน, ดอกมีสีชมพูอมม่วง ออกเป็นช่อตามซอกใบ มีกลีบดอก 5 กลีบ, ผล-ค่อนข้างกลม ผิวขรุขระเล็กน้อยคล้ายส้มซ่า ส่วนหัวบุ๋มลงไปจากพื้นผิวเล็กน้อย เนื้อในเป็นเม็ดใส มีรสเปรี้ยว โดยที่ผลจะออกเดี่ยวๆ ก็มี หรือออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-5 ผล ก็มี ความยาวของเส้นรอบผล ประมาณ 27-28 เซนติเมตร

ผลของมะงั่วเมื่อผ่าออก มาจะคล้ายๆ กับส้มโอ คือ เปลือกหนา, มีเมล็ดจำนวนมาก รสของน้ำมะงั่วจะเปรี้ยวและหอมคล้ายน้ำมะนาว แต่รสอ่อนกว่ามะนาวเล็กน้อย ใช้แทนน้ำมะนาวได้ เมื่อนำไปปรุงโดยเติมเกลือกับน้ำตาลทรายก็มีรสกลมกล่อมชวนรับประทาน ปัญหาคงจะอยู่ที่ว่า น้ำมะงั่วสดเก็บไว้ได้ไม่นาน (แม้จะคั้นใส่ตู้เย็นไว้ก็ตาม) จึงขอฝากเป็น "การบ้าน" ให้นักโภชนาการหรือนักคหกรรมศาสตร์ไปลองคิดหาวิธีที่จะแปรรูปหรือถนอมน้ำ มะงั่วให้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นานๆ ต่อไป เช่น อาจจะใช้กระบวนการพาสเจอไรซ์ (Pasteurization คือการฆ่าเชื้อโรคด้วยวิธีการใช้ความร้อนปานกลาง ราว 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลานาน 30 นาที) เข้าช่วย เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะงั่วต่อไปในอนาคต

ปัจจุบัน แหล่งต้นพันธุ์มะงั่วค่อนข้างจะหาได้ยาก จะพบได้ตามไร่ตามสวนสมรม (สวนไม้ผลโบราณ) หรือในสวนของผู้แสวงหาและนักสะสมพันธุ์ไม้หายากที่แท้จริงเท่านั้น และในรายที่มีต้นพันธุ์อยู่ ส่วนใหญ่มักไม่ได้เตรียมเพาะหรือตอนกิ่งไว้เพื่อเผยแพร่ ทำให้ไม้ต้นนี้กลายเป็นไม้ที่ยังหายากอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่งต่อวงการนักอนุรักษ์ไม้ผลหายากของเมือง ไทย

มีตัวอย่างของเกษตรกรท่านหนึ่ง ซึ่งปลูกมะงั่วไว้ต้นหนึ่งเมื่อ 7-8 ปี ที่ผ่านมา โดยได้ต้นพันธุ์มาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะนี้มะงั่วให้ผลผลิตค่อนข้างดก และเกษตรกรท่านนั้นกำลังเร่งขยายต้นพันธุ์เพื่อการเผยแพร่อยู่อย่างเร่งรีบ ด้วยกิ่งตอน เกษตรกรท่านนั้นคือ คุณนพดล ภู่อ่างทอง บ้านเลขที่ 30/3 หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 18110 โทร. (089) 900-9982 ท่านที่อยากปลูกมะงั่วลองติดต่อดู เพื่อจะได้ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ไม้อันเป็นมรดกของมนุษยชาติและของไทยสืบไป...

ก่อน จบเรื่องราวของมะงั่วในฉบับนี้ ผู้เขียนใคร่ขอคัดลอกสรรพคุณของส่วนต่างๆ ของมะงั่วที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาบันทึกไว้เพื่อประโยชน์ของผู้ที่รักไม้ต้นนี้ กล่าวคือ น้ำมะงั่ว เป็นยาฟอกโลหิตระดู ขับโลหิตระดู กัดเสมหะ กัดเถาดานในท้อง แก้เลือดออกตามไรฟัน และแก้ไอ, เปลือก ผล-ใช้รักษาขี้กลาก แก้ลมเสียดแน่น และแก้ลมขึ้นเบื้องสูง, ผิวของเปลือกผล-เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ลมวิงเวียน แก้ลมท้องขึ้นอืดเฟ้อ, เปลือกต้น-แก้พิษไข้ แก้พิษกาฬ แก้เสมหะเป็นโทษ, ราก-เป็นยากระทุ้งพิษ แก้เสมหะ แก้พิษฝีภายใน ถอนพิษผิดสำแดง แก้ประดง และแก้น้ำเหลืองเสีย (ที่มา-สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน เรื่อง มะนาวควาย เรียบเรียงโดย พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ จัดพิมพ์โดย มูลนิธิการแพทย์แผนไทยพัฒนา, 2549)

หนังสือ สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคอีสาน ได้ระบุชื่อวิทยาศาสตร์ของมะงั่วต่างไปจากของราชบัณฑิตยสถาน โดยกล่าวว่า มะนาวควาย มีชื่อว่า Citrus medica Linn. Var medica วงศ์ RUTACEAE ตรงกัน ก็ขอนำมาบอกกล่าวเป็นการแถมท้ายไว้ และแล้ว เรื่องราวของ มะงั่ว หรือหมากเว่อ หรือหมากกินเกิ้ม (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน) หรือลีมากูบา (มลายู-ภาคใต้) ก็จบลงแต่เพียงแค่นี้ แลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น