วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

"กะพังโหม" หรือ "พาโหม" กลิ่นเหม็น แต่กินมีประโยชน์






พืชชนิดนี้พบขึ้นตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป ลักษณะเป็นไม้เถาเลื้อยขนาดเล็ก มีด้วยกัน 2 ชนิด คือ ชนิดที่มีใบเรียวแหลมและแคบ กับ ชนิดที่มีใบใหญ่กว่าชนิดแรกเล็กน้อย ซึ่งเถาและใบจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงมาก กลิ่นจะเหม็นเหมือนกลิ่นขี้หมาแห้ง ชาวบ้านในยุคสมัยก่อนที่ไม่ชอบกลิ่นเหม็นของ “กะพังโหม” จึงพากันเรียกชื่อว่าต้น “ตดหมา” ภายหลังมีผู้เห็นว่าชื่อดังกล่าวไม่น่าฟัง จึงได้เปลี่ยนในปทานุกรมว่า “กะพังโหม”

อย่างไรก็ตาม “กะพังโหม” แม้เถาและใบจะมีกลิ่นเหม็นรุนแรงตามที่กล่าวข้างต้น แต่คนในยุคโบราณกลับนิยมรับประทานเป็นผักสด โดยเอาใบหรือยอดอ่อนจิ้มนํ้าพริก ทางภาคใต้ใส่ในข้าวยำรับประทานอร่อยมาก ในประเทศอินเดีย ใช้ใบใส่ในซุปให้คนชราและผู้ที่เพิ่งจะฟื้นจากอาการป่วยไข้ช่วยให้ร่างกาย แข็งแรงได้

ในทางยา ใครที่เป็นโรคเริม ปวดแสบปวดร้อน บางคนเป็นในร่มผ้า ให้เอาใบและเถาของ “กะพังโหม” ที่ว่าเหม็นๆนั่นแหละ เอาชนิดสดตำให้ละเอียดพอกหรือทาบริเวณที่เป็นเริม หรือ บริเวณที่เป็นงูสวัดบ่อยๆ จะช่วยถอนพิษไม่ให้ปวดแสบปวดร้อนและแห้งหายได้  ใบและเถาของ “กะพังโหม” ยังกินเป็นยาแก้ตานซาง แก้ดีรั่ว   เป็นยาอายุวัฒนะ แก้ธาตุพิการ ท้องเสีย ตัวร้อน ขับไส้เดือนในเด็กดีมาก  ใบและเถายังสามารถตำพอกแผลที่ถูกงูกัด เพื่อถอนพิษก่อนนำตัวผู้ถูกงูกัดไปพบแพทย์ บางพื้นที่ใช้พอกแก้รำมะนาดได้ ราก ฝนเอานํ้าหยอดตาแก้ตาฟาง ตาแฉะตามัว

กะพังโหม หรือ PAEDERIA TO-MENTOSA, BLUME, VAR GLALAR, KURZ–PAEDERIA FOETIDA อยู่ในวงศ์ RUSIACEAE ใบและเถามีสารเหม็นชื่อ METHGLMEREAPTAN มีชื่อเรียกอีกคือ หญ้าตดหมา, ตดหมา, ตูดหมูตูดหมา, ขี้หมาคาร้อ, พาโหมต้น และ ย่านพาโหม ครับ.

ในข้าวยำปักษ์ใต้บ้านเรา หากไม่มีเจ้าตัวนี้เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย บอกได้เลยครับว่า มันไม่ใช่ข้าวยำปักษ์ใต้ เพราะข้าวยำปักษ์ใต้ต้องมีกระพังโหมหรือพาโหมเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยเสมอ

1 ความคิดเห็น: